TU-GET grammar

 

 

 

ข้อสอบ TU-GET ประกอบไปด้วยข้อสอบจำนวน 100 ข้อ ข้อละ 10 คะแนน ดังนั้นคะแนนรวมทั้งสิ้นจะเท่ากับ 1,000 คะแนน ข้อสอบแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่ TU-GET Grammar , TU-GET Vocabulary , และ TU-GET Reading

 

ในส่วนของ TU-GET Grammar ข้อสอบจะมี 2 ลักษณะคือ

1. Error Identification

2. Sentence Completion

ใน Error Identification นั้นจะไม่เหมือนกับข้อสอบภาษาอังกฤษแบบอื่นๆ เพราะ Error Identification ในข้อสอบ TU-GET จะหยิบเอาประโยคที่มีความยาวและซับซ้อนมากๆมาเป็นข้อสอบ บางทีในโจทย์ ข้อเดียวอาจจะประกอบไปด้วยประโยคถึง 3 ประโยคเลยก็มี และวิธีการขีดเส้นใต้ตัวเลือกทั้ง 4 ตัวก็จะไม่ได้ขีดเป็นคำๆข้อสอบจะขีดเส้นใต้ยาวๆเป็นวลี ทำให้ยากแก่การวิเคราะห์ การที่เราทำคะแนนในส่วน Error Identification ได้ไม่ดีนักอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่นเราอาจจะจำกฏการใช้ไวยากรณ์ไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจว่าประโยคนั้นมีที่ผิดตรงไหน บางครั้งอาจจะไม่รู้คำศัพท์ ทำให้ยากแก่การเข้าใจประโยคโดยรวม หรือเราอาจจะไม่เข้าใจโครงสร้างของภาษาอังกฤษทำให้เราไม่รู้ว่าประโยคแต่ละประโยคควรจะประกอบไปด้วยคำประเภทใดในตำแหน่งใดบ้าง วันนี้เราจะมาพูดถึงเทคนิคที่เราสามารถนำไปใช้ได้จริงสำหรับการทำข้อสอบ Error Identification กัน

สิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงเวลาจะทำข้อสอบ Error Identification คือ ห้ามแปล! ใช้แล้วครับ อย่าเพิ่งแปลประโยคเด็ดขาด การแปลจะใช้เป็นวิธีสุดท้ายเมื่อเราหมดหนทางจริงๆ คุณเชื่อหรือไม่ว่ามากกว่า 90 เปอร์เซนต์ของข้อสอบ Error Identification ไม่จำเป็นต้องอาศัยการแปลในการทำข้อสอบเลย หากเราพบว่าในห้องสอบ เรากำลังนั่งแปล Error ทุกข้อเลย อาจจะเป็นไปได้ว่าเราคงทำข้อสอบไม่ได้เสียแล้ว เอาล่ะเมื่อบอกว่าห้ามแปล แล้วเราควรทำอย่างไร ลำดับแรกต้องวิเคราห์โครงสร้างของประโยคให้ได้เสียก่อน เริ่มจากหา verb ในประโยคให้เจอก่อน แล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น พูดถึงการหา verb จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย เพราะเราต้องรู้หลักในการหา verb เช่น to + v.1 ไม่ใช่ verb เราห้ามหลงคิดว่าเป็น verb เป็นอันขาดเป็นต้น ต่อมาเมื่อหา verb แต่แล้วก็ถึงคราวของ subject หรือประธาน พอเราได้ส่วนที่เป็นประธาน และกริยาแล้ว ส่วนที่เหลือในประโยคจะเป็นส่วนขยายทั้งหมด สิ่งที่เหลือคือต้องจับทีละจุดเพื่อเช็คว่าสิ่งใดผิดปกติหรือไม่โดยใช้หลักไวยากรณ์เข้ามาช่วยจับ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเห็นโจทย์ลักษณะเช่นนี้ The discuss on the environmental impacts from insecticide which has received attention from public all over the country. จากประโยคดังกล่าว เราจะพบว่า received นั้นเป็น verb ของประโยค ในขณะที่ The discuss เป็น subject จากกฏไวยากรณ์ เราทราบดีว่าคำที่จะทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคได้นั้นต้องเป็นคำนามเท่านั้น เราก็จะทราบทันทีว่าข้อที่ผิดคือ the discuss เนื่องจาก discuss เป็น verb ไม่สามารถปรากฏตัวในตำแหน่งนี้ได้ เราต้องแก้เป็น The discussion เป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่าข้อสอบ Error Identification นั้นต้องใช้หลักไวยากรณ์มาใช้หาที่ผิดโดยไม่ต้องแปล ถ้าหากเราจำกฏไวยากรณ์ต่างๆได้ ข้อสอบส่วนนี้ก็ไม่มีอะไรน่ากลัว

เรายังอยู่ในส่วนของ Grammar อยู่ ถัดมาเป็นส่วนของ Sentence Completion ในข้อสอบส่วนนี้โจทย์จะหยิบยกเอาประโยคภาษาอังกฤษมา 1 ประโยค แต่ได้ละส่วนประกอบบางอย่างออกไป แล้วให้เราเลือกตัวเลือกที่ทำให้ประโยคนั้นสมบูรณ์ที่สุดในแง่ของไวยากรณ์และความหมาย เช่นเดียวกันกับข้อสอบ Error Identification ข้อสอบส่วนนี้ต้องการวัดว่าเรามีความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษเพียงใด เราจะเจอประโยคที่มีความซับซ้อนทุกรูปแบบ แต่เราสามารถใช้เทคนิคการวิเคราะห์โครงสร้างมาทำข้อสอบส่วนนี้ได้เช่นกัน กล่าวคือ เราต้องสามารถบอกได้ว่าส่วนที่ขาดหายไปในประโยคนั้นสามารถเป็นอะไรได้บ้าง เช่นโจทย์ให้ประโยคมาว่า

Currently, the government and NGO representatives ___________ implementing some tools to control the emission of CO2 into the atmosphere, which will be likely to come into effect in the next quarter.
a. considering b. are considering c. are considered d. are being considered

ในข้อนี้เราจะทำข้อสอบได้เราต้องรู้จักวิเคราห์ให้ได้ว่าส่วนประกอบที่หายไปในประโยคนั้นคืออะไร เช่นจากประโยคนี้เราจะพบว่าส่วนที่หายไปคือ verb เนื่องจาก implementing นั้นไม่ใช่ verb เพราะ v.ing จะเป็น verb ได้ก็ต่อเมื่อมาคู่กับ v. to be เท่านั้น ฉะนั้นเราก็จะหาคำตอบได้แล้วคือข้อ b. ส่วนข้อ c และ d ยังไงก็ไม่ถูกเพราะโจทย์ไม่ได้ต้องการ passive voice (v. to be + v.3 เป็นโครงสร้างของ passive voice) เราจะเห็นว่าในข้อสอบ part Grammar นั้นต้องอาศัยความรู้เรื่องไวยากรณ์หลายเรื่องด้วยกัน ฉะนั้นเราต้องทบทวนกฏไวยากรณ์ต่างๆให้ดีก่อนจะไปสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Parts of Speech, Subject and Verb Agreement, Tenses, Adjective Clause, Participles, Noun Clause, Adverb Clause, Quantifiers, Active and Passive Voice และ Conditionals อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากในการวิเคราะห์โครงสร้างประโยคคือ conjunction หรือตัวเชื่อม เราควรทำความรู้จักกับตัวเชื่อมทุกๆตัว และต้องรู้ให้ลึกถึงวิธีใช้ตัวเชื่อมแต่ละตัวเนื่องจากในข้อสอบ sentence completion หลายๆข้อจะมีตัวเชื่อมเป็นส่วนประกอบ หากเรารู้วิธีใช้ตัวเชื่อมแต่ละตัวก็จะช่วยให้เราสามารถตัดตัวเลือกออกไปได้ในข้อสอบหลายข้อเลยทีเดียว เช่น เราควรรู้ว่า because เป็นตัวเชื่อมที่จะต้องตามด้วยประโยคเสมอ ในขณะที่ because of นั้นต้องตามด้วยคำนาม เป็นต้น

Scroll to Top