IJSO คืออะไร คุณสมบัติของผู้สมัคร ประโยชน์การสอบ IJSO

International Junior Science Olympia

IJSO คืออะไร

International Junior Science Olympiad หรือเรียกสั้นๆว่า IJSO คือ การสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี (ในวันที่ 31 ธันวาคมของปีการแข่งขัน)

International Junior Science Olympiad หรือ IJSO มีวัตถุประสงค์ในการจัดการแข่งขันขึ้นเพื่อส่งเสริมความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ในกลุ่มนักเรียน โดยให้นักเรียนได้รู้จักกับการแก้ปัญหาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และนอกจากนี้ยังทำให้ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่แตกต่างและทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนจากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพในการส่งเสริมสันติภาพและความเข้าใจในระดับโลกต่อไป

การสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ( IJSO ) มีทั้งการสอบข้อเขียนในเชิงทฤษฎีและการสอบภาคปฏิบัติ ซึ่งการทดสอบใน IJSO จะถูกออกแบบมาให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้เข้าใจถึงแนวคิด รวมไปถึงทดสอบความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย

คุณสมบัติของผู้สมัครแข่งขันสอบ IJSO

1. กำลังศึกษาในชั้น ม.1- ม.3 ณ วันที่สมัคร มีคะแนนเฉลี่ยในรายวิชาพื้นฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ไม่ต่ำกว่า 3.50 หรือถ้าต่ำกว่า 3.50 จะต้องมีผลงานทางวิทยาศาสตร์ดีเด่น (ต้องมีใบรับรองจากสถานศึกษา กรณีนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติให้ใช้เอกสารรับรองจากโรงเรียนที่ตนเองศึกษาอยู่

2. อายุไม่เกิน 15 ปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม ในปีการศึกษาที่สมัครสอบเท่านั้น

3. มีสัญชาติไทย

4. ผู้ปกครองยินยอมให้เข้าค่ายอบรม (ถ้าได้รับคัดเลือกจะต้องมีเวลาอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของแต่ละวิซา)

5. โรงเรียนรับรองโดยผู้อำนวยการโรงเรียน (หรือรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หรือหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมาย)

6. สำหรับนักเรียนโฮมสคูล ต้องรับรองโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

7. สำหรับนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน และโรงเรียนแสงทองวิทยา การสอบคัดเลือกรอบ 1 และรอบ 2 ให้อยู่ในการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อคัดผู้แทนนักเรียน จำนวนโรงเรียนละ 6 คน เข้าร่วมการอบรมในค่ายของมูลนิธิ สอวน.

8. จะต้องไม่เคยเป็นผู้แทน IJSO

ผลคะแนนของ IJSO เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง

ผลคะแนนสอบจากการสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IJSO) จะถูกนำมาคิดคำนวณตามระบบ แล้วรายงานผลการแข่งขันออกมาเป็นเหรียญรางวัล ซึ่งประกอบไปด้วย รางวัลเหรียญทอง (Gold) รางวัลเหรียญเงิน (Silver) และรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze) แน่นอนว่ารางวัลเหล่านี้คือจุดสูงสุดที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต่างตั้งเป้าหมายไว้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้มีเพียงรางวัลหล่านี้ที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับ แต่ยังมีโอกาสอีกมากมายที่จะเข้ามาหลังจากที่เราเป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโควตาการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทุนการศึกษาอีกมากมายที่พร้อมจะสนับสนุนในการศึกษาต่ออย่างเต็มที่

ประโยชน์ของการสอบ IJSO

1. มีสิทธิ์เข้าสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำโดยไม่ต้องสอบ TCAS : น้องๆ อาจจะมีสิทธิ์ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยก่อนคนอื่นๆ ในรอบโควต้า ในคณะที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่ติดค่าย พร้อมทุนการศึกษา เช่น คณะวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เภสัช เป็นต้น

2. มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัย ชั้นนำของโลก : น้องๆ ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศ ก็มีโอกาสจะได้รับทุนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง จะเป็นทุนการศึกษาจนถึงปริญญาเอก นอกจากนี้ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น Stanford, MIT และ Harvard หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

3. ได้เพิ่มความรู้ ความสามารถด้านวิชาการขั้นสูง : หลังจากสอบผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ค่าย IJSO/สอวน. แล้วน้องๆ จะได้เรียนรู้เนื้อหาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน และได้เรียนเนื้อหาระดับมหาวิทยาลัยบางส่วนนอกจากนี้มีโอกาสได้ลงมือทำแล็ปจริง ๆ ด้วยตัวเอง

4. ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ น้องจะได้เจอกับเพื่อนๆ ทีมีความสามารถจากต่าง ร.ร. และเมื่อได้เป็นผู้แทนประเทศ ก็จะได้ไปเข้าค่ายยังต่างประเทศ เจอเพื่อนจากหลายประเทศอีกด้วย

5. ได้ค้นหาตัวตน เมื่อน้องๆเข้าค่าย จะได้มาเรียนรู้การทำ Lab จริง ได้เรียนเนื้อหาที่ยากขึ้น น้องจะพบว่าชอบวิชานั้นจริงหรือไม่

สมัครสอบ IJSO

น้องๆที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( IJSO ) สามารถติดต่อขอรับใบสมัครและทำการสมัครได้ทั้งจากโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในส่วนภูมิภาค ศูนย์ สอวน. ม.ต้น (โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนสารวิทยา, โรงเรียนศึกษานารี)

สมัครสอบ IJSO ได้ที่เว็บไซต์ของ สอวน. https://www.posn.or.th/topics/inter-olympiad กรอกข้อมูลลงในใบสมัครให้เรียบร้อยพร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น รูปถ่าย ค่าสมัคร สำเนาบัตรประชาชน ใบรับรองผลการเรียน ส่งให้กับหน่วยงานดังกล่าวข้างต้น

ตารางสอบ IJSO

การสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( IJSO ) ในแต่ละปีนั้น จะถูกจัดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ซึ่งมีจัดในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี โดยจะมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันราวๆ 50 ประเทศ

ปฎิทินตารางสอบ IJSO

พ.ศ.- ธ.ค. รับสมัครสอบคัดเลือก

ม.ค. สอบคัดเลือกรอบ 1

มี.ค. สอบคัดเลือกรอบ 2 (เฉพาะนักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกรอบ 1)

เม.ย. คัดเลือกผู้แทนประเทศ

สนามสอบ IJSO

ในแต่ละปีการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( IJSO ) จะถูกจัดขึ้นในประเทศต่างๆ สลับหมุนเวียนไป ทั้งนี้ เราสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ได้ว่า การแข่งขันนี้ถูกจัดขึ้นที่ไหนบ้าง โดยสามารถดูได้ทั้งปีที่ผ่านๆมาและการจัดการแข่งขันในอนาคต ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวคือ http://www.ijsoweb.org/

รอบสอบ IJSO

สอบคัดเลือก IJSO รอบที่ 1

สอบวิชาคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา (วิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที) โดยจะคัดเลือกผู้สมัครสอบจากทั่วประเทศเหลือประมาณ 300 คน รวมโควต้าเขตพื้นที่, โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จาก สสวท. 60 คน, ผู้แทนประเทศไทยจากการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษาจาก สพฐ 18 คน (ไม่รวมโควต้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 6 คน, โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน 6 คน และโรงเรียนแสงทองวิทยา 6 คน)

สอบคัดเลือก IJSO รอบที่ 2

สอบวิชาฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา (สอบวิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที) เพื่อคัดเลือกนักเรียนประมาณ 30 คน เข้าอบรม (ไม่รวมโควต้า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 6 คน, โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน 6 คน และโรงเรียนแสงทองวิทยา 6 คน)

สอบคัดเลือก IJSO ผู้แทนประเทศไทย

น้อง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 2 จะต้องเข้าอบรมอย่างน้อย 80 % ของเวลาการอบรมแต่ละวิชา จึงจะมีสิทธิ์สอบคัดเลือก โดยจะมีการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยจำนวน 6 คน และสำรอง 4 คน

รูปแบบการสอบแข่งขัน IJSO

Multiple Choice Test: ข้อสอบแบบมีอัตนัย 4-5 ตัวเลือก ทดสอบความรู้ด้านเนื้อหาและการประยุกต์ใช้

Theoretical Test : เป็นข้อสอบแบบเติมคำหรือแบบอัตนัยเขียนอธิบาย ไม่มีตัวเลือก ทดสอบความรู้และความเข้าใจในเชิงทฤษฎี

Practical Test : เป็นข้อสอบการแบบ แล็ปกริ๊ง เน้นวัดความสามารถในการทดลองและประยุกต์ใช้ทฤษฎีต่างๆ เพื่อหาคำตอบจากการทำลองจริง

แนะนำหนังสือสำหรับเตรียมสอบ IJSO

สำหรับการเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IJSO) แน่นอนว่าอาจจะต้องมาจากหลายๆส่วน ทั้ง การเข้าค่าย การเข้ารับการอบรวมต่างๆ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ การอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้และเป็นการพัฒนาตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ โดยหนังสือที่น่าสนใจ เช่น University Physics with Modern Physics (14th Edition): Hugh D. Young, Roger A. Freedman, Chemistry: Raymond Chang, Kenneth Goldsby, IJSO – Internaiotnal Junior Science Olympiad Solved Papers เป็นต้น

Related Posts