B-NET คืออะไร สำคัญอย่างไร B-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง

B-NET คืออะไร

B-NET หรือ Buddhism National Educational Test คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในรายวิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวิชาวินัย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้น พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 โดยมี สทศ หรือสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ

 

B-NET สำคัญอย่างไร

การสอบ B-NET นั้น อย่างที่เราได้ทราบกันแล้วว่าเป็นการทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนในรายวิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวิชาวินัย ตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังนั้น การสอบจะมีผลต่อการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในรายวิชาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังสามารถประเมินผลในระดับชาติได้อีกด้วย นั่นหมายถึงว่า การปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในระดับโรงเรียน แต่ยังสามารถนำไปพัฒนาในวงกว้างได้อีกด้วย รวมไปถึงหากหลักสูตรในระดับปริญญาตรีหลักสูตรใด ต้องการรับผู้สมัครเรียนที่มีทักษะด้านนี้ก็สามารถนำไปกำหนดเป็นเกณฑ์การรับสมัครได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นการสอบในระดับชาติ เป็นข้อสอบกลางที่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆจะได้สอบด้วยข้อสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

B-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง

การสอบ B-NET มีการจัดสอบในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยแต่ละระดับมีรายวิชาที่ต้องสอบ ดังนี้

ระดับชั้น วิชาที่สอบ เวลาในการทำข้อสอบ
มัธยมศึกษาตอนต้น ภาษาบาลี (รหัสวิชา 383) 120 นาที
ธรรม พุทธประวัติ วินัย (รหัสวิชา 384) 180 นาที
ภาษาบาลี (รหัสวิชา 393) 120 นาที
มัธยมศึกษาตอนปลาย ธรรม พุทธประวัติ วินัย (รหัสวิชา 394) 180 นาที

 

B-NET นั้น มีไว้ให้ใครสอบได้บ้าง

B-NET จะมีจัดสอบไว้สำหรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในรายวิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวิชาวินัย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้น พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551

 

วิธีการสมัครสอบ B-NET สามารถทำได้อย่างไรบ้าง

สำหรับการสมัครสอบ B-NET นั้น โดยปกติแล้วโรงเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก โดยหลังจากที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสอบแล้ว สถานศึกษาหรือโรงเรียนต่างๆก็เตรียมรวบรวมรายชื่อนักเรียนส่งไปยัง สทศ หรือสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผ่านเว็บไซต์ https://www.niets.or.th/ จากนั้นทาง สทศ จะทำการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบและสนามสอบออกมาเป็นประกาศครั้งที่ 1 ซึ่งทางโรงเรียนยังสามารถแก้ไขรายชื่อผู้เข้าสอบได้อยู่ เมื่อผ่านระยะการแก้ไขข้อมูลนี้ไปแล้ว ทาง สทศ จะออกประกาศฉบับที่ 2 ออกมา ซึ่งเป็นประกาศสุดท้ายที่จะแจ้งข้อมูลทุกอย่างแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ สนามสอบ และเลขที่นั่งสอบ น้อง ๆเพียงแค่ตรวจสอบรายชื่อและข้อมูลของตนเองให้ครบถ้วนในแต่ละครั้งที่ สทศ ออกประกาศออกมา หากเรียบร้อยก็รอวันสอบได้เลย

Related Posts