หมอ คืออะไร ? เรียนแพทย์ มี สาขาอะไรบ้าง ? เส้นทางเรียนหมอ

หมอ คืออะไร

หมอ คือ ผู้ตรวจ รักษา โรคและความผิดของร่ายกาย และจิตใจ โดยการสั่งยา ผ่าตัด รักษาคนผู้ป่วย โดยหมอมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสุขภาพ ทั้งในด้านการส่งเสริม สนับสนุน ป้องกัน รักษาโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ

วิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการเรียนแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ นำไปสู่ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับร่างกาย สุขภาพ การตรวจวินิจฉัย ป้องกันและเฝ้าระวังโรค การส่งเสริมสุขภาพ

กุมารเวชศาสตร์ เป็นการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทางการแพทย์แก่ทารก, เด็ก และวัยรุ่น ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 14-18 ปี

เลนส์สัมผัส จะเกี่ยวข้องกับคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส ค่อยคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการที่ต้องสวมใส่แว่นตาสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตา

จิตเวชศาสตร์ เป็นการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านจิตใจของบุคคล หรือสุขภาพจิต

นิติเวชศาสตร์ เป็นวิชาแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย นำวิชาแพทย์ทุกสาขาไปประยุกต์ใช้แก่ขบวนการยุติธรรม

พยาธิวิทยา เป็นวิชาทางการแพทย์เฉพาะ ที่เน้นศึกษาและวินิจฉัยโรคจากการตรวจอวัยวะ, เนื้อเยื่อ, เซลล์, สารคัดหลั่ง ทั้งร่างกายมนุษย์

รังสีวิทยา เป็นการแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคโดยอาศัยเครื่องมือพิเศษ เช่น การใช้รังสีเอกซ์ ( x-ray ) รังสีแกมมา ( Gamma ray ) จากสารกัมมันตภาพรังสีคลื่นเสียง

วิสัญญีวิทยา เป็นการแพทย์เฉพาะทางที่มีหน้าทีระงับความรู้สึกผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด ทั้งให้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายและให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน ดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยหลังให้ยาระงับความรู้สึกในห้องพักฟื้นจนปลอดภัยและส่งกลับหอผู้ป่วย

เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นการแพทย์ที่อยู่ประจำคลินิกโรคทั่วไป หรือศูนย์สุขภาพใกล้บ้าน เน้นเฉพาะทางในด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้กับคนทุกเพศทุกวัย

เวชศาสตร์ป้องกัน เป็นการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน และลดการแพร่กระจายของโรค ทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ

เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับให้การรักษาดูแลและฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วย เพื่อให้กลับคืนสู่สภาพที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นการแพทย์พิเศษที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์ การทำคลอดและตรวจรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ โดยมีหน้าที่ครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตรและการผ่าตัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง

โสตศอนาสิกวิทยา เป็นวิชาแพทยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของหู คอ จมูก

ออร์โธปิดิกส์ เป็นวิชาแพทยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศัลยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย

อายุรศาสตร์ เป็นการแพทย์เฉพาะทางซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การวินิจฉัยและการรักษาโรคและความผิดปกติในร่างกายผู้ใหญ่

คณะแพทย์ต้องเรียนอะไรบ้างในแต่ละปี ?

ปี 1 เน้นปรับพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ ม.ปลาย ได้แก่ วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (ที่ใช้ในการแพทย์) เป็นหลัก ซึ่งคือการเรียนปรับพื้นฐานโดยใช้ความรู้จาก ม.ปลายเป็นส่วนใหญ่

ปี 2 เน้นเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ของแพทย์มากขึ้นกว่าตอนปี 1 โดยเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างร่างกาย ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายอย่างละเอียด เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด และอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังต้องเรียนวิชาทางกายวิภาค สรีรวิทยา พันธุศาสตร์ และยังได้พบกับอาจารย์ใหญ่และคำปฏิญาณด้วย เรียกได้ว่าเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่การเป็นแพทย์ขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง

ปี 3 เป็นปีที่เน้นเรียนเกี่ยวกับร่างกาย หลักภูมิคุ้มกัน ปรสิตวิทยา พยาธิทั่วไป เวชศาสตร์ชุมชนฯ และยาขั้นพื้นฐานในเภสัชวิทยา

ปี 4 เป็นปีที่จะได้ก้าวเข้าสู่ชั้นคลินิก ซึ่งจะได้เรียนรู้และทดลองดูแลคนไข้จริง ๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งจะได้วนไปตามวอร์ดต่างๆ จนครบ ถือว่าเป็นปีที่หนักอยู่พอสมควร แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นช่วงที่น้อง ๆ จะได้สนุกมาก ๆ เช่นกัน

ปี 5 เป็นการเรียนที่คล้ายตอนปี 4 คือ จะได้วนไปตามวอร์ดต่างๆ ตลอดทั้งปี แต่จะเป็นวอร์ดที่ไม่เคยเจอในปี 4 เช่น แผนกจิตเวช, แผนกนิติเวช เป็นต้น

ปี 6 หรือที่เราเคยคุ้น ๆ กับคำว่า Extern ซึ่งปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายของการเรียนแพทย์ ซึ่งการเรียในปี 6 นี้ น้อง ๆ จะได้ทำงานจริงเหมือนแพทย์ตามโรงพยาบาล ต้องออกตรวจคนไข้ รักษา เย็บแผลเอง ทำคลอดเอง ทำการผ่าตัดเล็กๆ คือต้องใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด และยังได้ไปฝึกงานที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดด้วย และเมื่อสอบผ่านทั้งหมดแล้ว ก็จะได้จบมาเป็นคุณหมอเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเรียนจบมาแล้ว ก็ยังมีการเรียนเฉพาะทางที่เจาะลึกไปในแต่ละด้าน เป็นลำดับขั้นไป ได้แก่ แพทย์ใช้ทุน (อินเทริ์น , Intern) / แพทย์ประจำบ้าน (เรสซิเด้นท์ , Resident) / แพทย์ประจำบ้านต่อยอด (เฟลโล่ชิป , Fellowship) / staff หรือเเพทย์ผู้จบเฉพาะทาง ตามลำดับ

เส้นทางการเรียนแพทย์

เส้นทางการเป็นคุณหมอ จริง ๆ แล้วก็มีแนวทางที่ไม่ต่างไปจากการสอบเข้าคณะอื่น ๆ มากนัก เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ ก็จะเปิดรับตามรอบของ TCAS เพียงแต่การแข่งขันจะค่อนข้างสูง การฝ่าฟันไปจนกว่าจะจบมาเป็นคุณหมอจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น น้อง ๆ คนไหนที่อยากเป็นหมอ ก่อนจะเตรียมตัวในด้านอื่น ๆ ต่อ เรามาดูกันก่อน่าเส้นทางการเป็นคุณหมอนั้น มีอะไรบ้าง

1. การยื่นรอบ 1 Portfolio เป็นรอบที่เน้นผลงาน โดยจะต้องไม่ใช่ผลงานกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีผลงานทางด้านวิชาการ จิตสาธารณะ หรือการวิจัยต่าง ๆ เน้นผลคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL, CUTEP หรืออื่นๆ คะแนน TBAT และเกรดในโรงเรียนเองก็สำคัญเช่นกัน

2. การยื่นรอบ 2 โควตา, ทุน เป็นรอบการรับของโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท, โครงการแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน, โครงการแพทย์เพื่อชุมชน, โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม, กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน, กลุ่มลดความเลื่อมล้ำ โควตาภาค, โครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นต้น ซึ่งมักจะเปิดรับทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะแพทย์ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของนักเรียนตามภูมิภาคต่าง ๆ เพราะโครงการเหล่านี้จะจำกัดคุณสมบัติเฉพาะพื้นที่ จึงทำให้คู่แข่งน้อย และบางโครงการยังมีทุนสนับสนุนการเรียนให้อีกด้วย โดยการคัดเลือกในรอบนี้มักจะใช้คะแนน BMAT, TOEFL, IELTS, CU-TEP คะแนน A-LEVEL บ้างก็ใช้ TPAT1 ความถนัดแพทย์ วิชาเฉพาะ กสพท บางที่สอบข้อสอบตรงของหาวิทยาลัยเพิ่มเติม

3. รอบ 3 Admission เลือก กสพท เป็นรอบที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) จะเปิดรับนักเรียนเข้าสู่คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ โดยจะเปิดรับในระบบ TCAS รอบที่ 3 ถือเป็นช่องทางหลักเลยก็ว่าได้ เพราะรับนักเรียนทั่วไป จำนวนรับเยอะ ใช้เกณฑ์การคัดเลือกกลาง และที่สำคัญคือ ไม่จำกัดแผนการเรียน เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ทุกสาย รวมไปถึงเด็กซิ่ว หรือผู้ที่จบป.ตรี ที่อายุไม่เกิน ได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันกันในสนามนี้ น้อง ๆ ที่สนใจต้องสมัครสอบ TPAT1 ความถนัดแพทย์ วิชาเฉพาะ ที่ทาง กสพท จัดสอบ และสมัครสอบ A-LEVEL ที่ทาง ทปอ. จัดสอบ จำนวน 7 วิชา ได้แก่ ไทย, สังคม, อังกฤษ, คณิตศาสตร์ 1, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา แล้วนำคะแนนสองส่วนนี้ไปยื่นในระบบ TCAS รอบที่ 3 ทาง ทปอ. เป็นผู้รับสมัครที่เว็บไซต์ https://mytcas.com

4. รอบ 4 Direct Admission เป็นรอบที่น้อง ๆ ต้องลุ้นกันหน่อย เพราะเป็นรอบเก็บตกสุดท้าย ต้องลุ้นว่าจะมีมหาวิทยาลัยไหนเปิดรับ และรับสมัครกี่คน ซึ่งหากมีเปิดรับก็จะใช้เกณฑ์เดียวกับรอบที่ 3 (กสพท) แต่เท่าที่ผ่านมาจะมีเปอร์เซ็นน้อยมาก ๆ ที่จะเปิดรอบนี้

5. รับตรงเอกชน เป็นรอบที่มหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตจะมีการเปิดรับตรง โดยใช้การสอบวัดความรู้ในรายวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เคมี และชีววิทยา

ส่วนหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ ซึ่งจะมีเปิดสอนในบางมหาวิทยาลัย ก็มักจะเปิดรับในรอบต่าง ๆ ของระบบ TCAS เช่นกัน แต่คะแนนสอบที่ใช้ยื่นนั้นมักจะเป็นคะแนนภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL, CU-TEP, TU-GET แล้วแต่ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดเกณฑ์ไว้อย่างไร รวมไปถึงคะแนน SAT, A-Level

เปรียบเทียบ หลักสูตรหมออินเตอร์ กับ หมอหลักสูตรไทย

หลักสูตรการเรียน

หมอหลักสูตรอินเตอร์ และหลักสูตรไทยเรียน 6 ปี เท่ากัน แต่หมออินเตอร์จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่อาจจะมีบางหลักสูตรที่เรียนเป็นตรีควบโท หรือเรียนข้ามศาสตร์ ตรงนี้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน

วิธีการสอบเข้าหมอ

หมออินเตอร์อยู่ใน TCAS รอบที่ 1 วิชาหลักที่ใช้ยื่นคะแนน คือ BMAT และความสามารถทางภาษาอังกฤษ เช่น IELTS, TOEFL หรือมีผลคะแนนในด้านวิทยาศาสตร์ เช่น IB, A-Level หรือ ใช้ Portfolio ส่วนหมอหลักสูตรไทย เปิดรับทั้งรอบ 1 – 3 (รอบ 4 อาจจะมีถ้าที่นั่งไม่เต็ม) หลัก ๆ ใช้เกณฑ์ กสพท และเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมในรอบที่ 1 และ รอบที่ 2

ค่าเทอม

ค่าเทอมหมออินเตอร์จะสูงกว่าหมอหลักสูตรไทย

การใช้ทุน

ไม่ว่าจะเรียนหมอหลักสูตรไหน ไทยหรืออินเตอร์ก็ต้องใช้ทุนเหมือนกันทั้งหมด ยกเว้นหมอเอกชนที่ใช้ทุนส่วนตัวเรียน

เรียนแพทย์ค่าเทอม

ค่าเทอมของการเรียนหมอในแต่ละมหาวิทยาลัยจะแตกต่างกันไป วันนี้เราจึงนำข้อมูลค่าเทอมของหลักสูตรแพทย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาให้น้องๆที่อยากเรียนหมอได้ดูกันแบบคร่าว ๆ ดังนี้

– จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 252,000 บาท

– มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 253,200 บาท

– มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 106,000 บาท

– มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 118,000 บาท

– วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 144,000 บาท

– วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 106,000 บาท

– มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์ ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 336,000 บาท

– สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะแพทยศาสตร์ ( หลักสูตรนานาชาติ ) ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 5,940,000 บาท

– มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 3,300,000 บาท

– มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 240,000 บาท

– มหาวิทยาลัยขอนแก่น ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 216,000 บาท

– มหาวิทยาลัยบูรพา ค่าเล่าเรียนตลอดทั้งหลักสูตร ประมาณ 192,570 บาท

Related Posts